วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรแก้เบื่ออาหารอ่อนเพลีย

คนพื้นบ้าน ตามชนบทจะรู้จักและคุ้นเคยกับเท้ายายม่อมหัวเป็นอย่างดี เนื่องจากมีขึ้นทั่วไปตามป่าดิบชื้นทุกภาคของประเทศไทยและมักจะขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ หรือขึ้นเป็นดงจำนวนมาก ชาวบ้านในยุคสมัยก่อนนิยมขุดเอาหัวไปทำเป็นแห้ง เรียกว่า WILLIAM’S ARROW ROOT เพื่อใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือแปรรูปทำเป็นขนมหลายอย่างรับประทานอร่อยมาก ซึ่งในยุคโบราณนิยมกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันบางพื้นที่ยังนิยมกันอยู่ แต่ก็เหลือน้อยมาก เนื่องจากเท้ายายม่อมหัวหายากนั่นเอง





อย่างไรก็ตาม เท้ายายม่อมหัว นอกจากจะใช้หัวทำแป้งปรุงอาหารได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในทางสมุนไพรยังมีสรรพคุณดีอีกด้วย โดยในตำรายาแผนไทยระบุว่า แป้งที่ทำขึ้นจากหัวของเท้ายายม่อมหัว สามารถเอาไปละลายกับน้ำแล้วใส่น้ำตาลกรวดพอประมาณตั้งไฟอ่อน ๆ กวนจนแป้งสุกให้คนไข้ที่เกิดอาการเบื่ออาหารทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงกิน จะช่วยให้มีอาการดีขึ้นและรู้สึกกระชุ่มกระชวย กินข้าวได้และหายอ่อนเพลียอย่างเหลือเชื่อ



เท้ายายม่อมหัว หรือ TACCALEON TOPETALOIDES (L.) KUNTZE อยู่ในวงศ์ TACCACEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวรูปทรงกลม หรือรูปกลมรีใต้ดิน ต้นและใบแทงขึ้นจากหัวใต้ดิน ใบเป็นรูปรีขอบใบเป็นแฉก ก้านใบยาว ใบเป็นสีเขียวสด



ดอก ออกเป็นช่อแทงขึ้นจากซอกใบ 1-2 ช่อ ช่อยาวประมาณ 170 ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 20-40 ดอก ดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น 2 ชั้น มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ปลายแผ่นเป็นแผ่น ก้านเกสรตัวเมียสั้น ปลายแยกเป็น 3 แฉก


ผล มีเนื้อหุ้มใน 1 ผล จะมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปเกือบกลม หรือรีห้อยลง เป็นไม้เจริญงอกงามในช่วงฤดูฝน ทรุดโทรมหรือตายในช่วงฤดูแล้ง แต่จะฝังหัวไว้ใต้ดินเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา เท้ายายม่อมหัว จะแทงต้นและใบขึ้นมาอีกครั้งเป็นวัฏจักรทุก ๆ ปี ขยายพันธุ์ด้วยหัวและหัวจะประกอบด้วยแป้งจำนวนมาก นอกจากชื่อเท้ายายม่อมหัวแล้ว ยังมีชื่ออื่นเรียกอีก คือ ไม้เท้าฤๅษี (ภาคกลาง) สิงโตดี (กรุงเทพฯ) และบุกรอ (ตราด) มีหัวขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี บริเวณโครงการ 3 แผงเจ๊ติ๋ม ราคาสอบถามกันเอง




วิธีแก้อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง สไตล์สบาย เรื่องหมอๆ
ในบรรดาอาการไม่สบายทั้งหลายที่คนไข้มาปรึกษาหมอ เราพบว่าอาการ อ่อนเพลียเรื้อรังนั้นชวนให้หมอปวดหัวมากที่สุด เนื่องจากคนที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนั้นมีสาเหตุมากมายและมักจะตรวจร่างกายไม่พบสิ่งปกติ ดังนั้นคนไข้เหล่านี้มักจะไม่ได้ รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าถ้าคนไข้กลุ่มนี้ไปพบแพทย์ในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่มีคนไข้มากแล้วล่ะก็มักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น โรควิตกกังวล (Anxiety) ไปโน่น แล้วก็ได้รับยาแก้วิตกกังวล ซึ่งจะทำให้ง่วงและอ่อนเพลียมากขึ้นไปอีก

จากการรวบรวมอาการคนไข้ Chronic Fatigue Syndrome นี้จะประกอบไปด้วย
1. อ่อนเพลียเรื้อรัง(มากกว่า 6 เดือน) - พบ 100%
2. อ่อนเพลียหลังออกกำลังกาย - พบ 100%
3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง - พบ 83%
4. ปวดศีรษะ - พบ 100%
5. ปวดกล้ามเนื้อ - พบ 96%
6. ปวดข้อ - พบ 78%
7. เจ็บคอ - พบ 91%
8. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ - พบ 83%
9. ไข้เรื้อรัง - พบ 81%
10. นอนไม่หลับ - พบ 91%
11. มีอาการทางประสาท - พบ 96%
อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อมีภาวะเครียด หรือรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (แป้ง,น้ำตาล) มากเกินไป
สาเหตุที่เป็นไปได้ของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) นี้มีหลายอย่างดังนี้
1. โรคติดเชื้อชนิดเรื้อรัง เช่น ยีสต์ ไวรัส ไมโครพลาสมา ฯลฯ
2. โรคทางเดินอาหารเรื้อรัง เช่น ภาวะดูดซึมอาหารไม่ได้ โรคตับอักเสบ โรคลำไส้อักเสบ
3. โรคขาดสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน เกลือแร่ แร่ธาตุ ฯลฯ
4. โรคขาดฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน, ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต,ฮอร์โมนจาก ต่อมใต้สมอง,ฮอร์โมนเพศ ฯลฯ
5. ได้รับสารพิษเรื้อรัง เช่น ยาฆ่าแมลง สารพิษจากอุตสาหกรรม (สารปรอท,สารตะกั่ว)
6. ภาวะเครียดเรื้อรัง
จะเห็นว่าสาเหตุของโรคอ่อนเพลียเรื้อรังนั้นมีมากมาย และการตรวจวินิจฉัยนั้นค่อนข้างยาก หมอที่ดีควรจะตรวจให้แน่ใจว่าคนไข้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคที่รักษาได้ในข้อ 1-5 ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นภาวะเครียดเรื้อรัง ในฉบับต่อไป หมอจะได้ มาเล่ารายละเอียดของการวินิจฉัยและรักษาที่จะทำให้คนไข้กลุ่มนี้หายขาดได้นะครับ




อ่อนเพลียอย่างนี้ไม่มีโรค (หมอชาวบ้าน)

มีผู้ป่วยหลายคนมาพบแพทย์ด้วยเรื่องอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำงาน บางคนบอกว่ารู้สึกเหนื่อยง่าย บ้างก็ว่าร่างกายอ่อนล้าผิดปกติ ที่สำคัญคือกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง

โดยมากเมื่อคนเราเจ็บป่วย มักจะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย จึงมักจะนึกถึงโรคต่าง ๆ แต่สำหรับคนที่รู้สึกอ่อนเพลีย แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ที่เห็นได้ชัด จะเกิดความวิตกกังวล ครั้นไปพบแพทย์ก็อาจตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ แพทย์เองก็วินิจฉัยไม่ถูก

บางคนก็บอกว่าเกิดจากความเครียด หรือวิตกกังวล และแพทย์เองก็ไม่รู้จะให้ยาอะไร นอกจากยาคลายเครียด วิตามิน หรือน้ำเกลือ ก็แล้วแต่วิธีการรักษาของแต่ละคน และกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาคลายเครียดด้วย ก็จะยิ่งทำให้ง่วงซึมและอ่อนเพลียมากขึ้นไปอีก

อาการอ่อนเพลียเป็นอาการทางร่างกายและจิตใจที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากโรคและที่ไม่ใช่โรค เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำทำงานหนัก อากาศที่ร้อนจัด วิตกกังวล เครียด ขาดสารอาหาร หรืออาจเกิดจากโรค เช่น โรคติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยอื่น ๆ

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น มักจะพยายามบอกให้ผู้ป่วยรู้จักพึ่งพาตัวเองในระดับหนึ่ง โดยใช้ดุลยพินิจวิเคราะห์อาการต่าง ๆ เมื่อรู้สึกไม่สบาย ว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ มีสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องพึ่งยาหรือไม่
กรณีอ่อนเพลียที่ไม่พบอาการผิดปกติอื่นใดและพอจะหาสาเหตุได้ เช่น นอนน้อยเกินไป มีภาวะเครียดการจำกัดอาหาร อย่างนี้ก็ให้แก้ไขที่สาเหตุ ปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตใหม่ พยายามผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยที่ยังไม่ต้องไปพึ่งน้ำเกลือหรือยาบำรุงใด ๆ เพราะ "อาการบางอย่างไม่ใช่โรค" และ "โรคบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา"

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินด้วย เมื่อร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างก็ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึม หรือเหนื่อยล้าได้ เช่น ขาดพลังงาน ขาดโปรตีน ขาดวิตามินบี หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น

ดังนั้น คนที่จำกัดการกินอาหารหรือพยายามลดน้ำหนัก จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ร่างกายจะเกิดสมดุล กล้ามเนื้อแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดีขึ้น นอกจากนี้ควรกินปริมาณพอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอาหารพวกไขมันแปรรูป ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อ่อนเพลียได้เช่นกัน

ไม่ต้องพึ่งน้ำเกลือหรือยาบำรุง เพราะอาการบางอย่างไม่ใช่โรค และโรคบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ยา

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ควรพักผ่อนให้เพียงพอทำใจให้สบาย หลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้กล้ามเนื้อและระบบเผาผลาญทำงานดี

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง แพทย์จะต้องซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยส่วนใหญ่ถ้าเจ็บป่วยเป็นโรคมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย และจะสังเกตได้ไม่ยาก แต่ที่แพทย์มักจะถามอยู่เสมอคือ มีไข้ไหม น้ำหนักลดหรือผอมลงหรือไม่ปัสสาวะมากและกระหายน้ำบ่อย ๆ หรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความเจ็บป่วยหรือเกิดจากสาเหตุอื่นกันแน่

สำหรับอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าแบบเรื้อรัง ชนิดที่ว่าไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ พักผ่อนหรือปรับปรุงวิถีชีวิตแล้วก็ยังไม่หาย จัดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง วินิจฉัยค่อนข้างยาก ตามตำราจะเรียกอาการแบบนี้ว่า โครนิกฟาทีกซินโดรม (chronic fatigue syndrome-CFS) ซึ่งมักจะอ่อนเพลียมานาน ส่วนใหญ่จะมากกว่า 6 เดือน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ เจ็บคอ มีไข้ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น

โรคนี้พบได้ไม่บ่อย สาเหตุนั้นยังไม่แน่ชัด โดยอาจเป็นผลมาจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง ขาดสารอาหารขาดฮอร์โมนบางอย่าง หรือเกิดจากภาวะเครียดเรื้อรัง เป็นต้น การรักษานั้นต้องใช้ทั้งยา โภชนะบำบัด และปรับวิถีชีวิตให้สมดุล

แต่สำหรับอาการอ่อนเพลียที่พบอยู่บ่อย ๆ นั้น มักจะไม่ใช่เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่เกิดจากการมีวิถีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น พักผ่อนน้อย ตรากตรำทำงาน กินอาหารไม่เพียงพอ ความเครียด เป็นต้น ดังนั้นวิธีการรักษาจึงอยู่ที่การแก้ไขสาเหตุ มากกว่าการพึ่งพายาหรือน้ำเกลือเพื่อบำรุงกำลัง





อาการเบื่ออาหาร


อาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย สาเหตุเริ่มต้นของคน ส่วนใหญ่คือ เกิดภาวะตึงเครียด อาการป่วยเรื้อรัง การนอนดึก นอนไม่หลับ ติดต่อเป็นประจำสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ทั้งสิ้น หรือแม้แต่การยอมอดอาหารเพื่อรูปร่างที่ผอมเพรียว การอดอาหาร อย่างต่อเนื่องสุดท้ายก็ส่งผลให้กลายเป็นโรคเบื่ออาหารได้ในที่สุด ลองมาแก้ไขอาการเบื่ออาหารกันดู โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
การนอน การทำงาน ทำจิตใจให้ร่าเริง ไม่เซื่องซึม และปรับแต่งรสชาติ ของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ เช่น ทานแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตอนพักเที่ยงทุกวัน ควรทานผลไม้เพื่อเติมรส ของธรรมชาติให้กับลิ้น เช่น เปรี้ยว หวานหอม และควรดื่มน้ำมาก ๆ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น